7 เทคนิคการจำศัพท์ให้ง่ายและเร็ว ฉบับคนไม่ชอบท่องจำ

ภาษาอังกฤษ

·

โพสต์เมื่อ 26 มีนาคม 2565

7 เทคนิคการจำศัพท์ให้ง่ายและเร็ว ฉบับคนไม่ชอบท่องจำ

ทุกคนคงอยากท่องศัพท์ได้ 1000 คํา หรือจำศัพท์ได้เยอะๆ เพราะ จะได้แปลประโยคได้คล่อง ฟังคนอื่นพูดได้เข้าใจ หรือทำข้อสอบได้อย่างไม่ติดขัด แต่ถ้าจะให้มานั่งท่องอย่างเดียว มันก็น่าเบื่อจนไม่อยากจะจำคำศัพท์นี้แล้ว แถมบางครั้ง ดันเป็นคนลืมง่าย ท่องไปแทบตาย ก็ยังลืมอยู่เลย

ทุกคนคงอยากท่องศัพท์ได้ 1000 คํา หรือจำศัพท์ได้เยอะๆ เพราะ จะได้แปลประโยคได้คล่อง ฟังคนอื่นพูดได้เข้าใจ หรือทำข้อสอบได้อย่างไม่ติดขัด แต่ถ้าจะให้มานั่งท่องอย่างเดียว มันก็น่าเบื่อจนไม่อยากจะจำคำศัพท์นี้แล้ว แถมบางครั้ง ดันเป็นคนลืมง่าย ท่องไปแทบตาย ก็ยังลืมอยู่เลย

ดังนั้นวันนี้ พวกเรา fellowie ได้รวบรวม 7 เทคนิคในการจำศัพท์ให้ง่ายและเร็ว แถมสามารถใช้งานได้จริง พูดได้คล่อง มาให้ทุกคนในบทความนี้แล้ว

1. อย่าเอาแต่ท่องศัพท์เพียงอย่างเดียว

เมื่อได้เรียนรู้ศัพท์ใหม่แล้ว ลองฟัง พูด อ่าน เขียน คำที่ถูกต้องของศัพท์นั้นด้วย  เพราะสมองจะเชื่อมโยงทั้งรูปคำ และเสียงของศัพท์นั้นเข้าด้วยกัน

ถ้าท่องจำเพียงอย่างเดียว ก็ทำให้ลืมง่าย ไม่รู้วิธีการออกเสียง หรือวิธีสะกดคำที่ถูกต้อง และไม่มีตัวช่วยอื่นๆ ในจำศัพท์นั้น เช่น เมื่อเห็นคำที่มีการสะกด หรือออกเสียงคล้ายกัน ก็ช่วยให้นึกถึงคำศัพท์ได้ง่ายขึ้นด้ว

2. จัดตารางเวลาในการทบทวนคำศัพท์แบบ Spaced repetition

โดยปกติแล้ว ถ้าเรียนหรือท่องจำอะไรแล้ว ไม่ได้ทบทวน จะทำให้ประสิทธิภาพในการจำนั้นลดลง แต่ถ้าจะให้ทบทวนบ่อยๆ หลายๆคน คงไม่ชอบอย่างแน่นอน เพราะต้องอยู่กับอะไรเดิมๆ ท่องศัพท์เดิมๆ วนไปซ้ำๆ ซึ่งคงรู้สึกเบื่อ และทำให้ขี้เกียจท่องศัพท์ไปเลย

งั้นลองมาใช้วิธีการทบทวนศัพท์แบบ Spaced repetition ไม่ต้องทบทวนบ่อย แถมช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจำศัพท์อีกด้วย โดยหลักการ Spaced repetition คือการทบทวนคำศัพท์เป็นช่วงๆเท่านั้นพอ แบ่งออกเป็น 4 ช่วง คือ

  • ทบทวนหลังจากเรียน-ท่องศัพท์ “ทันที”
  • ทบทวนหลังจากเรียน-ท่องศัพท์ไปแล้ว “1 วัน”
  • ทบทวนหลังจากเรียน-ท่องศัพท์ไปแล้วภายใน “1 อาทิตย์”
  • ทบทวนหลังจากเรียน-ท่องศัพท์ไปแล้วภายใน “1 เดือน”

3. การจำคำศัพท์แบบ Mnemonic Device

ใครที่ไม่ชอบการท่องศัพท์ไปวันๆ เพียงอย่างเดียว วิธีนี้น่าจะตอบโจทย์มากที่สุดวิธีหนึ่ง เพราะ Mnemonic Device เป็นเทคนิคการจำ โดยอาศัยการเชื่อมโยงเข้ากับสิ่งต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้จดจำคำศัพท์ไว้ได้นานๆ โดยเทคนิค  Mnemonic Device ที่พวกเรา fellowie รวบรวมมาให้มี 4 วิธี คือ

1. การใช้ความเหมือนกับศัพท์ที่รู้อยู่แล้ว

โดยลองหาสิ่งที่เหมือน หรือคล้ายกันกับคำศัพท์ที่รู้อยู่แล้ว อาจจะมาจากจินตนาการของเราคนเดียว หรือเป็นคำที่มีความหมายคล้ายกัน เสียงคล้ายกัน หรือสะกดคล้ายกันกับศัพท์ที่รู้อยู่แล้วก็ได้ เช่น 

“ trauma (ทรอ-มะ) แปลว่า บาดแผลทางจิตใจ มีการออกเสียงคล้ายๆกับคำว่า ทรมาน ในภาษาไทย อาจจำว่า เป็นความ ทรมาน ที่เกิดจาก บาดแผลทางจิตใจ ก็ได้” 

2. การจำเป็นกลุ่มคำศัพท์ โดยใช้คำคล้องจองในการเชื่อมโยง

ถ้าท่องจำศัพท์แบบธรรมดา แล้วรู้สึกมันจำยาก ลองเปลี่ยนคำเหล่านั้นให้มีความเชื่อมโยง และคล้องจองกัน ช่วยให้เวลาท่องรู้สึกสนุก และบางครั้งเราก็จำได้เอง เพราะคำมันลื่นไหล และเข้าปาก ไปแล้ว เช่น

tell-บอก, ออก-out, cow-แม่วัว, หัว-head

3. การจำเป็นกลุ่มคำศัพท์ที่อยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน

อาจจะเป็นกลุ่มคำศัพท์ที่มีลักษณะเดียวกัน ใช้ในบริบท หรือสถานการณ์เดียวกันก็ได้ เช่น 

วันทั้ง 7 วัน - Sunday, Monday, Tuesday, Wednesday, Thursday, Friday และ Saturday
เดือนทั้ง 12 เดือน - January, February, March, April, May, June, July, August, September, October, November และDecember

4. การใช้คำคล้าย-คำตรงข้าม (Synonym-Antonym) 

หลายคนคงไม่ชอบจำศัพท์เยอะๆ ในครั้งเดียวหรอก เพราะมันจะใช้ความสามารถในการจดจำเยอะมาก แต่ถ้าหากเราจำเป็นกลุ่มคำโดยใช้ เป็นกลุ่มคำที่มีความหมายคล้ายกัน หรือตรงข้ามกัน ก็จะช่วยให้จดจำคำศัพท์ได้ง่ายขึ้นด้วย เช่น 

โศกเศร้า - bereaved, mourn, sad
มีความสุข - happy , joyful
หมายเหตุ : คำบางคำมีความหมายเหมือนกัน แต่วิธีการใช้แตกต่างกัน อย่าลืมใช้กันให้ถูกแต่ละบริบทด้วยนะ

4. เทคนิคการจำจากรากศัพท์, Prefix และ Suffix

ถ้าลองสังเกตดีๆ ศัพท์หลายคำ มักมีลักษณะที่คล้ายกัน เช่น คำนำหน้า (Prefix) คำตามหลัง(Suffix) หรือมีรากศัพท์ การจำจาก Prefix, Suffix และรากศัพท์ นอกจากจะช่วยให้เราจัดเป็นชุดคำศัพท์และจำได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังช่วยให้รู้ทิศทางความหมาย หรือชนิดของคำแบบเดียวกันอีกด้วย แม้ว่าจะไม่เคยเจอคำนั้นมาก่อน 

ตัวอย่าง Prefix เช่น re (ย้อนกลับ, อีกครั้ง)
คำที่มี Prefix คำว่า “re” คือ rebuild (สร้างใหม่), remind (เตือนความจำ, ทำให้นึกถึง), return (กลับคืน) และ rewrite (เขียนใหม่) เป็นต้น
ตัวอย่าง Suffix เช่น ful
คำที่มี Suffix คำว่า “ful” คือ joyful (ร่าเริง), successful (สำเร็จ), powerful (มีอำนาจ) และ colorful (มีสีสันสวยงาม) เป็นต้น
ตัวอย่าง รากศัพท์ เช่น port (ขนส่ง, พกพา)
คำที่มีรากศัพท์ คำว่า “port” คือ Import(นำเข้า), Export(ส่งออก), Transport(ขนส่ง) และ Transportation (การขนส่ง) เป็นต้น

5. ฝึกจากชีวิตจริง

เป็นหนึ่งวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดแล้ว ไม่เพียงแต่จำศัพท์ได้ แต่ยังเข้าใจบริบทในการใช้อีกด้วย เนื่องจากเป็นสิ่งที่เราพบเจอจริงๆ และยังได้ทักษะอื่นๆ เพิ่ม ในทีเดียวเลย เช่น การฟัง การพูด หรือการเขียน โดยการฝึกใช้ในชีวิตจริงสามารถทำได้หลากหลายมาก อีกทั้งตอบโจทย์คนที่ไม่ชอบท่องอย่างเดียวด้วย เพราะ จะได้จำศัพท์ใหม่ผ่านการจำในรูปแบบอื่นๆ เช่น

1. ดูหนัง-ซีรี่ย์เป็นภาษาอังกฤษ

ถ้าเลือกไม่ถูกว่าจะดูหนัง หรือซีรี่ย์เรื่องไหนดี ก็เอา “เรื่องที่เราชอบ” นั่นแหละ โดยสำหรับคนพึ่งเริ่มฝึก การฟังพากษ์ภาษาอังกฤษอย่างเดียวเลย จะทำให้เกิดความไม่เข้าใจ และงงมากขึ้นกว่าเดิมอีก ดังนั้น ควรเริ่มจาก

รอบแรก ดูพากษ์ไทย-ซับไทย 
(ให้เข้าใจเนื้อเรื่องทั้งหมดก่อน)
รอบที่ 2 สำหรับคนที่ดูพากษ์ไทย ให้เปิดเป็นพากษ์ภาษาอังกฤษ และเปิด Subtitle ภาษาไทย ไปด้วย
(พยายามจำบทหรือคำพูดของตัวละครให้ได้มากที่สุด)
รอบที่ 3 เปิดเป็นพากษ์ภาษาอังกฤษ และ Subtitle เป็นภาษาอังกฤษ
(แปลความหมายของคำศัพท์ และประโยค โดยนึกถึงบทพูดที่เป็นภาษาไทย และบริบทโดยรวมของเหตุการณ์ขณะนั้น)
หมายเหตุ : คำศัพท์บางคำอาจจะใช้ได้ในหลายบริบท หรือเหตุการณ์ ดังนั้น อย่าลืม!!! ดูบริบทหรือเหตุการณ์ การใช้ศัพท์นั้นด้วย

ถ้าฝึกอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้สามารถจำศัพท์ได้อย่างแม่นยำ ทั้งบริบทและรูปแบบการใช้ การสะกด รวมถึงการออกเสียงของคำนั้นด้วย

2. ฟังเพลงเป็นภาษาอังกฤษ

จะคล้ายๆกับ การดูหนัง-ซีรี่ย์เป็นภาษาอังกฤษ เริ่มจากการฟังเพลงที่เราชอบ โดยสำหรับคนพึ่งเริ่มฝึก การฟังเพลงเป็นภาษาอังกฤษอย่างเดียว จะทำให้เกิดความไม่เข้าใจ และงงมากขึ้นกว่าเดิมอีก ดังนั้น ควรเริ่มจาก

รอบแรก การฟังเพลงเป็นภาษาอังกฤษ และเปิด Subtitle ภาษาไทย ไปด้วย
(ให้เข้าใจเนื้อเพลงทั้งหมดก่อน)
รอบที่ 2 ฟังเพลง และเปลี่ยนเป็น Subtitle ภาษาอังกฤษ
(แปลความหมายของคำศัพท์ และประโยค โดยนึกถึงบทพูดที่เป็นภาษาไทย และบริบทโดยรวมของท่อนนั้น)
หมายเหตุ : เช่นเดียวกับการดูหนัง-ซีรี่ย์ คำศัพท์บางคำอาจจะใช้ได้ในหลายบริบท หรือเหตุการณ์ ดังนั้น อย่าลืม!!! ดูบริบทการใช้ศัพท์นั้นด้วย

ยังมีอีกหลายกิจกรรมที่สามารถทำได้เหมือนกันเช่น การฟังข่าว และอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ แต่สำหรับคนพึ่งเริ่มฝึก พวกเรา fellowie ไม่ค่อยแนะนำซักเท่าไหร่ เพราะถ้าไม่เข้าใจคำศัพท์ จะทำให้ไม่เข้าใจเนื้อเรื่องทั้งหมดเลย อีกทั้งการดูหนัง-ซีรี่ย์ และการฟังเพลง จะทำให้เราเข้าใจคำศัพท์ได้ง่ายมากกว่า จากการจำเป็นรูปภาพเหตุการณ์ในหนัง หรือ MV เพลงนั้น แถมจะได้ทักษะที่หลากหลายเพิ่มขึ้นอีกทั้ง การฟัง พูด อ่าน เขียน และการนำไปใช้ ดังนั้นควรเป็นการฝึกสำหรับคนที่จำศัพท์ได้เยอะในระดับหนึ่งแล้ว จะมีประสิทธิภาพมากกว่า

3. การเล่นเกม

หลายคน อาจสงสัยว่า การเล่นเกมจะช่วยได้จริงๆหรอ? แต่ถ้าลองไปถามคนหลายๆคน ที่เล่นเกมแล้ว จะพบว่า คนส่วนใหญ่จะได้คำศัพท์ต่างๆ มาจากเกมเยอะมาก อีกทั้งเกมในปัจจุบันที่เป็นแบบออนไลน์ทั่วโลก ยิ่งทำให้เราได้ลองฝึกพูด ฝึกคุย และแลกเปลี่ยนคำศัพท์ใหม่กับเพื่อนร่วมทีมอีกด้วย

4. ใช้พูดในชีวิตประจำวัน

เมื่อเรียนรู้ศัพท์มาใหม่ ก็อย่าลืมลองพูดในชีวิตจริงบ้าง การพูดไทยคำอังกฤษคำ ไม่ใช่สิ่งที่ผิด หรือดูไม่ดี แต่มันส่งผลที่ดีมากให้กับตัวเองด้วยซ้ำ เพราะช่วยให้จำศัพท์นั่นได้ง่ายขึ้น ผ่านการใช้งานจริง

6. สร้างภาพจำ

บางครั้ง ถ้าเรียนรู้ศัพท์ใหม่ โดยจำเป็นคำภาษาอังกฤษ และเปลี่ยนเป็นคำในภาษาไทย และจำวิธีใช้งาน หรือความหมาย ก็ทำให้สมองต้องทำงานหลายขั้นตอนได้ ดังนั้น การสร้างภาพในรูปจะช่วยลดขั้นตอนในการจำได้อย่างดีมาก เช่น

คำว่า Doctor (หมอ) ก็ลองนึกภาพของคนที่อยู่ในชุดกาวน์ มีหน้าที่รักษาคนไข้ดู แทนที่จะจำว่า Doctor คือหมอ เมื่อฝึกด้วยวิธีนี้เป็นประจำ จะช่วยให้จำได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงไม่ต้องใช้สมองเพื่อประมวลผลหลายขั้นตอน และสามารถจำเป็น คำศัพท์ภาษาอังกฤษ คำศัพท์ภาษาไทย และวิธีใช้งานคำศัพท์นี้ รวมกันในครั้งเดียว

7. การเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ต้องใช้เวลาเสมอ

ไม่แปลกหรอกที่ การจำอะไรใหม่ๆ แล้วจะลืมได้ง่ายกว่าเรื่องที่รู้จนชินอยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าลืมศัพท์ไหนไป เพียงแค่ทบทวนบ่อยๆ และใช้เทคนิคที่พวกเรา fellowie ยกมาในบทความนี้ จะช่วยให้จำได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม อย่า!! คิดว่าตัวเองไม่เก่ง แล้วล้มเลิกความตั้งใจไป เพียงแค่ลืมศัพท์แค่ไม่กี่คำ 

พวกเรา fellowie เชื่อว่า ถ้าน้องๆ ตั้งใจฝึกจำศัพท์ และทบทวนอยู่สม่ำเสมอ ยังไง น้องๆทุกคนก็จะเก่งศัพท์ได้แน่นอน
อยากได้เทคนิคมากกว่านี้ อยากได้คำศัพท์เพิ่ม และเรียนรู้เทคนิคการจำศัพท์ผ่านประสบการณ์จริง
มาปรึกษา หรือเรียนกับติวเตอร์บน fellowie ได้ที่ 👉
ติวเตอร์ภาษาอังกฤษ

fellowie แอปเรียนออนไลน์ตัวต่อตัวกับติวเตอร์ที่เหมาะกับคุณ
❌ไม่ผูกมัด
❌ไม่ผ่านนายหน้า
❌รู้จักติวเตอร์ตั้งแต่ก่อนเรียน
❌ปลอดภัย ไม่โดนโกง 100%
✅ จ่ายเงินเป็นรายครั้ง
✅ เลือกเวลาเรียนได้เอง